เมนู

ในคำว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ นี้ มีวิเคราะห์ว่า ธรรมที่ชื่อว่า
อุเบกขา เพราะอรรถว่า ย่อมเห็นโดยความเกิดขึ้น อธิบายว่า ย่อมเห็นเสมอ
คือเห็นอยู่โดยไม่ตกไปเป็นฝ่ายไหน. พระโยคาวจรผู้พรั่งพร้อมด้วยตติยฌาน
ตรัสเรียกว่า อุเปกฺขโก (ผู้เข้าไปเพ่ง) เพราะประกอบด้วยอุเบกขาอันบริสุทธิ์
ไพบูลมีกำลังนั้น.

ว่าด้วยอุเบกขา 10 อย่าง



ก็อุเบกขามี 10 อย่าง คือ
ฉฬังคูเบกขา (อุเบกขาของพระขีณาสพคือตัตรมัชฌัตตตา)
พรหมวิหารูเบกขา (อุเบกขาในพรหมวิหารคือตัตรมัชฌัตตตา)
โพชฌังคูเบกขา (อุเบกขาในสัมโพชฌงค์คือตัตรมัชฌัตตตา)
วิริยูเบกขา (อุเบกขาคือความเพียร)
สังขารูเบกขา (อุเบกขาในฌานและวิปัสสนาคือปัญญา)
เวทนูเบกขา (อุเบกขาเวทนา)
วิปัสสนูเบกขา (อุเบกขาในวิปัสสนาคือปัญญา)
ตัตรมัชฌัตตูเบกขา (ตัตรมัชฌัตตเจตสิก)
ฌานูเบกขา (อุเบกขาในฌานคือตัตรมัชฌัตตตา)
ปาริสุทธิอุเบกขา (อุเบกขาทำสติให้บริสุทธิ์คือตัตรมัชฌัตตตา).
บรรดาอุเบกขา 10 เหล่านั้น อุเบกขาใดเป็นธรรมบริสุทธิ์เป็นปกติ
ในคลองแห่งอารมณ์ 6 ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาในทวาร 6 ของพระ-
ขีณาสพเป็นอาการมีอยู่ที่มาในพระบาลีอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นขีณาสพในธรรม
วินัยนี้เห็นรูป ด้วยจักษุแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีสติ มีความรู้สึกตัว วางเฉย
อยู่เทียว ย่อมอยู่ ดังนี้ อุเบกขานี้ ชื่อว่า ฉฬวคูเบกขา.

ก็อุเบกขาใดมีอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย มีมาในพระบาลีอย่างนี้
ว่า ภิกษุมีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ดังนี้ อุเบกขานี้ชื่อว่า
อุเบกขาในพรหมวิหาร.
อุเบกขาใดมีความเป็นกลางในสหชาตธรรมทั้งหลาย ที่มาในพระบาลี
ว่า ภิกษุเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อาศัยวิเวก ดังนี้ อุเบกขานี้ ชื่อว่า อุเบกขา-
สัมโพชฌงค์
.
อุเบกขาใด กล่าวคือความเพียรที่ไม่หย่อนไม่ยิ่งของความเพียรเกินไป
มาในพระบาลีอย่างนี้ว่า ภิกษุมนสิการนิมิตอุเบกขาตลอดกาล ดังนี้ อุเบกขา-
นี้ ชื่อว่า วิริยูเบกขา.
อุเบกขาใดมีอาการเป็นกลาง มีการกำหนดพิจารณานีวรณ์เป็นต้น
มีมาในพระบาลีอย่างนี้ว่า สังขารูเบกขาเท่าไร ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ
สังขารูเบกขาเท่าไร ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา สังขารูเบกขา 8 อย่าง
ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ สังขารูเบกขา 10 อย่าง ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจ
วิปัสสนา ดังนี้ อุเบกขารนี้ ชื่อว่า สังขารูเบกขา.
อุเบกขาใดที่หมายรู้ในความไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข ที่มาในพระบาลี
อย่างนี้ว่า กามาวจรกุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้น ดังนี้ อุเบกขานี้ชื่อว่า
เวทนูเบกขา.
อุเบกขาใดมีความเป็นกลางในการค้นหาพิจารณา ที่มาในพระบาลี
อย่างนี้ว่า สิ่งใดมีอยู่เป็นแล้ว ย่อมละสิ่งนั้นเสีย ภิกษุย่อมได้เฉพาะซึ่งอุเบกขา
ดังนี้ อุเบกขานี้ชื่อว่า วิปัสสนูเบกขา.
อุเบกขาใดยังสหชาตธรรมให้เป็นไปสม่ำเสมอ ที่มาในเยวาปนกธรรม
ทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น อุเบกขานี้ชื่อว่า ตัตรมัชฌัตตูเบกขา.

อุเบกขาใดเป็นชาติตกไปในความสุขแห่งฌานนั้น แม้เป็นสุขอันเลิศ
ที่มาในพระบาลีอย่างนี้ว่า เป็นผู้เพ่งอยู่ดังนี้ ชื่อว่า ฌานูเบกขา.
อุเบกขาใดบริสุทธิ์จากปัจจนิกธรรมทั้งปวง ไม่ต้องขวนขวายแม้ใน
การสงบปัจจนิกธรรม ที่มีมาในพระบาลีอย่างนี้ว่า ฌานที่ 4 มีสติบริสุทธิ์
เพราะอุเบกขา ดังนี้ อุเบกขานี้ชื่อว่า ปาริสุทธิอุเบกขา.
บรรดาอุเบกขาทั้ง 10 เหล่านั้น ฉฬังคูเบกขา พรหมวิหารูเบกขา
โพชฌังคูเบกขา ตัตรมัชฌัตตูเบกขา ฌานูเบกขา ปาริสุทธิอุเบกขา โดย
อรรถเป็นอย่างเดียวกัน คือเป็นตัตรมัชฌัตตเบกขา. แต่ว่าความแตกต่างกัน
แห่งอุเบกขาตามที่กล่าวมานั้น เพราะแยกประเภทนั้น ๆ ไว้ ดุจความแตกต่าง
กันแห่งคนแม้คนเดียว คือโดยเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นผู้ใหญ่ เป็นเสนาบดี
และเป็นพระราชาเป็นต้น เพราะฉะนั้น บรรดาฉฬังคูเบกขาเป็นต้นเหล่านั้น
ในที่ใดไม่มีฉฬังคูเบกขา พึงทราบว่าในที่นั้นมีโพชฌังคูเบกขาเป็นต้น หรือว่า
ในที่ใดไม่มีโพชฌังคูเบกขา พึงทราบว่า ในที่นั้นมีฉฬังคูเบกขาเป็นต้น.
อนึ่ง อุเบกขา 6 เหล่านั้น ว่าโดยอรรถมีภาวะเป็นอันเดียวกัน ฉันใด
แม้สังขารูเบกขาและวิปัสสนูเบกขาก็เป็นภาวะอันเดียวกัน ฉันนั้น. ก็สังขาร-
เบกขาและวิปัสสนูเบกขานั้นคือปัญญานั่นเอง แตกแยกเป็น 2 ด้วยสามารถ
แห่งกิจ. เหมือนอย่างว่า เมื่อบุรุษถือไม้มีสัณฐานเหมือนเท้าแพะแสวงหางู
ซึ่งเข้าไปสู่บ้านในเวลาเย็น เห็นงูนั้นนอนในที่หลบซ่อนในกองสิ่งของก็มองดู
อยู่ด้วยสงสัยว่า ใช่งูหรือไม่หนอ เห็นเครื่องหมายดอกจันทน์ก็หมดความสงสัย
จึงเป็นผู้วางเฉยในการที่จะวินิจฉัยว่าเป็นงูหรือมิใช่ ฉันใด เมื่อพระโยคาวจร
ผู้ปรารภวิปัสสนาเห็นไตรลักษณ์ด้วยวิปัสสนาญาณแล้ว ความเป็นผู้วางเฉย
ในการที่จะพิจารณาสังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นย่อมเกิดขึ้น ฉันนั้น
ความเป็นผู้วางเฉย (มัชฌัตตตา) นี้ ชื่อว่า วิปัสสนาอุเบกขา.

เหมือนอย่างว่า เมื่อบุรุษนั้นเอาไม้มีสัณฐานเหมือนเท้าแพะกดคองู
แล้วแสวงหาอาการที่จะปลอดภัยว่า โดยวิธีใด เราจะจับงูนี้ไม่ลำบาก และ
โดยอุบายอย่างไร เราจึงจะไม่ให้งูกัดเราได้ ดังนี้ การวางเฉย (มัชฌัตตตา)
ในการจับจึงมี ฉันใด เมื่อพระโยคาวจรเห็นภพทั้ง 3 ดุจไฟติดทั่วแล้ว เพราะ
เห็นไตรลักษณ์ ก็มีความวางเฉย (มัชฌัตตตา) ในการยึดถือสังขารฉันนั้น
เหมือนกัน มัชฌัตตตานี้ ชื่อว่า สังขารูเบกขา. ด้วยประการตามที่กล่าว
มานี้ แม้สังขารูเบกขาจะสำเร็จได้ก็เพราะวิปัสสนูเบกขาสำเร็จแล้วโดยแท้. ก็
อุเบกขา (คือปัญญา) นี้แยกออกเป็น 2 อย่างโดยกิจนี้ กล่าวคือการวางเฉย
ในการพิจารณา และในการยึดถือ ดังนี้. ส่วนวิริยูเบกขา และเวทนูเบกขา
โดยอรรถต่างกัน และต่างจากอุเบกขาที่เหลือด้วย.
บรรดาอุเบกขาเหล่านั้น ตามที่กล่าวมาในที่นี้ ท่านประสงค์เอาฌานู-
เบกขา. ฌานูเบกขานั้นมีความวางตนเป็นกลางเป็นลักษณะ มีความไม่คำนึง
ถึงเป็นรส มีการไม่ขวนขวายเป็นปัจจุปัฏฐาน มีความคลายปีติเป็นปทัฏฐาน.
ในอธิการแห่งฌานที่ 3 นี้ หากมีผู้ค้านว่า ฌานูเบกขานี้โดยอรรถ
ก็เป็นตัตรมัชฌัตตตูเบกขามิใช่หรือ และตัตรมัชฌัตตตูเบกขานั้น ก็มีอยู่ใน
ปฐมฌานและทุติยฌาน เพราะเหตุนั้น แม้ในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น
ฌานูเบกขานี้ก็ควรกล่าวว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ (ผู้เพ่งอยู่) ดังนี้ เพราะ
เหตุไร จึงไม่ตรัสฌานูเบกขาไว้. ตอบว่า เพราะปฐมฌานและทุติยฌานนี้
มีกิจยังไม่แจ่มแจ้ง. จริงอยู่ กิจคือความแจ่มแจ้งในปฐมฌานและทุติยฌานนั้น
ไม่มี เพราะถูกธรรมอันเป็นข้าศึกทั้งหลายมีวิตกเป็นต้นครอบงำแล้ว แต่ใน
ตติยฌานนี้ ไม่มีข้าศึกคือวิตกวิจารและปีติครอบงำแล้ว เป็นดุจยกศีรษะขึ้น
ได้แล้ว มีกิจอันแจ่มแจ้งแล้ว เพราะฉะนั้น จึงกล่าวฌานูเบกขาไว้ในตติยฌาน
นี้แล.

จบการพรรณนาความทั้งปวงแห่งคำว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ
เพียงนี้.
บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สโต จ สมฺปชาโน (มีสติและ
สัมปชัญญะ ) นี้ต่อไป.
บุคคลใด ย่อมระลึกได้ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า มีสติ.
บุคคลใด ย่อมรู้ทั่วโดยชอบ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า มีสัมปชานะ
(ผู้รู้ทั่วโดยชอบ). พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสติและสัมปชัญญะไว้โดยปุคคลา-
ธิษฐาน. บรรดาสติและสัมปชัญญะนั้น สติมีการระลึกเป็นลักษณะ. มีการ
ไม่หลงลืมเป็นรส มีการอารักขาเป็นปัจจุปัฏฐาน... สัมปชัญญะมีความไม่
หลงลืมอารมณ์ (การรู้ทั่วโดยชอบ) เป็นลักษณะ มีการพิจารณา (หรือมีการ
ถึงฝั่ง) เป็นรส มีการใคร่ครวญเป็นปัจจุปัฏฐาน...
บรรดาฌานเหล่านั้น สติและสัมปชัญญะนี้ แม้มีอยู่ในฌานเบื้องต้น
ก็จริง เพราะว่า เมื่อพระโยคาวจรมีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ แม้แต่เพียง
อุปจารฌานก็ย่อมไม่สำเร็จ จะป่วยกล่าวไปไยถึงอัปปนาเล่า ถึงอย่างนั้น
เพราะความที่ฌานทั้งหลาย (ปฐมฌานทุติยฌาน) เหล่านั้นเป็นองค์อันหยาบ
ทางไป (คติ ) ของจิตจะต้องเป็นทางสบาย เหมือนทางไปของบุคคลบนแผ่นดิน
ฉะนั้น กิจแห่งสติและสัมปชัญญะในฌานต้น ๆ นั้นยังไม่มีกำลังกล้า แต่เพราะ
ฌานที่ 3.นี้เป็นฌานมีอารมณ์สุขุม เพราะละองค์ฌานหยาบ ๆ ได้ การดำเนิน
ไปแห่งจิตอันกิจ (หน้าที่) ของสติและสัมปชัญญะประคองไว้แล้วนั่นแหละ
อันพระโยคีพึงปรารถนา เหมือนบุรุษเดินไปในที่แหลมคม ฉะนั้น เพราะ
เหตุนั้น สติและสัมปชัญญะ จึงตรัสไว้ในตติยฌานนี้เท่านั้น.

พึงทราบเนื้อความนี้ให้ยิ่งขึ้นอีกหน่อยหนึ่งว่า เปรียบเหมือนลูกโค
ซึ่งยังดื่มนมแม่โค เจ้าของพรากออกไปแล้วไม่รักษาไว้ ย่อมกลับมาหาแม่โค
อีกนั่นแหละ ฉันใด สุขในตติยฌานนี้ก็ฉันนั้น อันพระโยคาวจรพรากจากปีติ
ได้แล้ว สุขนั้นไม่รักษาไว้ด้วยสติและสัมปชัญญะ ก็พึงกลับมาหาปีติอีกนั่นแหละ
สุขนั้นก็เพ่งสัมปยุตด้วยปีติโดยแท้. อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีในสุข และสุขนี้
(ตติยฌาน) ก็มีสุขที่ชอบใจยิ่ง เพราะไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่านี้ แต่ด้วยอานุภาพ
แห่งสติและสัมปชัญญะในตติยฌานนี้ ไม่มีความยินดีในสุข หาใช่ด้วยอานุภาพ
อื่นไม่ เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงความต่างกันแห่งเนื้อความแม้นี้ จึงตรัสคำว่า
สติและสัมปชัญญะไว้ในตติยฌานนี้ทีเดียว.
บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ
(และเสวยสุขด้วยนามกาย) นี้ต่อไป.
ความผูกใจในการเสวยเฉพาะความสุข ของบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วย
ตติยฌานย่อมไม่มีแม้ก็จริง แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะความสุขของพระโยคาวจร
นั้นสัมปยุตด้วยนามกาย หรือว่า พระโยคาวาวจรนั้นพึงเสวยสุขใดนั้นอันสัมปยุต
ด้วยนามกาย หรือเพราะรูปอันประณีตยิ่ง อันตั้งขึ้นด้วยนามกายนั้นถูกต้อง
รูปกายของพระโยคาวจรนั้น แม้เธอออกจากฌานแล้ว ก็ยังเสวยความสุข
เพราะความที่กายนั้นอันรูปประณีตยิ่งถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อจะแสดง
เนื้อความนั้นจึงตรัสคำว่า สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวทติ ดังนี้.
บัดนี้ พึงทราบอธิบายในคำว่า ยนฺตํ อริยา อาจิกฺขนฺติ อุเปกฺขโก
สติมา สุขวิหารี
(พระอริยะทั้งหลายย่อมกล่าวว่า บุคคลผู้เพ่งเฉย มีสติ
อยู่เป็นสุข) ดังนี้ต่อไปว่า
พระอริยทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อม
บัญญัติ ย่อมแต่งตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนก ย่อมกระทำให้ง่าย ย่อมประกาศ

ย่อมสรรเสริญซึ่งบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยตติยฌานนั้น เพราะฌานใดเป็นเหตุ
เพราะฌานใดเป็นการณะ.
ถามว่า ย่อมสรรเสริญ อย่างไร ?
ตอบว่า ย่อมสรรเสริญว่า เป็นผู้เพ่งเฉยมีสติอยู่เป็นสุข.
บัณฑิตพึงทราบการประกอบเนื้อความในข้อนั้น อย่างนี้ว่า พระ-
โยคาวจรเข้าถึงฌานที่ 3 นั้นอยู่. เพราะเหตุไร พระอริยะทั้งหลายจึงสรรเสริญ
พระโยคีนั้นอย่างนี้ เพราะท่านเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ. จริงอยู่ พระโยคาวจร
นี้เป็นผู้เพ่งเฉยในตติยฌานอันมีความสุขที่ชอบใจยิ่ง แม้ถึงที่สุดแห่งความสุขก็
ไม่ถูกความติดใจในสุขดึงมาในตติยฌานนั้น และชื่อว่าเป็นผู้มีสติ เพราะมีสติ
ตั้งมั่นโดยประการที่ปีติจะไม่เกิดขึ้น และย่อมเสวยที่ไม่เศร้าหมอง ที่พระอริยะ
ใคร่ ที่อริยชนเสพแล้วนั่นแหละด้วยนามกาย เพราะเหตุนั้น พระโยคีนั้น
จึงควรเพื่อสรรเสริญ. ด้วยประการดังกล่าวมานี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระ
อริยเจ้าเหล่านั้น เมื่อจะประกาศคุณอันเป็นเหตุควรแก่การสรรเสริญอย่างนี้
พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้เพ่งเฉย มีสติอยู่เป็นสุข เพราะท่านควรแก่การสรรเสริญ
ดังนี้.
คำว่า ตติยํ (ที่ 3) คือ ชื่อว่า เป็นที่ 3 เพราะนับตามลำดับ.
ฌานนี้ ชื่อว่า ที่ 3 เพราะอรรถว่า ย่อมเข้าถึงครั้งที่ 3. พึงทราบวินิจฉัย
ในบทที่จำแนกและไม่จำแนกในคำเป็นต้นว่า ตสฺมึ สมเย ผสฺโส โหติ
ดังนี้ ในหมวด 5 แห่งฌาน แม้บทแห่งปีติก็ต้องลดไปด้วยสามารถแห่งฌาน
แม้นั้น. แม้ในโกฏฐาสวาระก็ตรัสว่า ฌานมีองค์ 2 คำที่เหลือเป็นเช่นกัน
ทุติยฌานนั่นแหละ ดังนี้แล.
ตติยฌานจบ

อธิบายจตุตถฌาน



พึงทราบนิทเทสแห่งจตุตถฌาน ต่อไป.
บทว่า สุขสฺส จ ปหานา ทุกฺขสฺส จ ปหานา (เพราะละสุข
และทุกข์ได้) ได้แก่ การละสุขทางกาย และทุกข์ทางกาย. คำว่า ปุพฺเพว
คือ การละนั้นมีในกาลก่อนทีเดียว มิใช่มีในขณะแห่งจตุตถฌานไม่. คำว่า
โสมนสฺสโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมา (เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิท)
ความว่า เพราะถึงการตั้งอยู่ไม่ได้แห่งธรรมทั้ง 2 เหล่านี้ คือ สุขทางใจ
และทุกข์ทางใจ คำนี้ท่านอธิบายว่า เพราะละเสียแล้ว.
ถามว่า ก็การละสุขและทุกข์ทางใจเหล่านั้นมีในกาลไร.
ตอบว่า ในขณะแห่งอุปุจารฌานทั้ง 4.
จริงอยู่ พระโยคาวจรละโสมนัสได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานที่ 4
เท่านั้น ส่วนทุกข์ โทมนัส และสุขย่อมละได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌาน
ที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม. โดยประการฉะนี้ บัณฑิตพึงทราบการละสุข ทุกข์
โสมนัส และโทมนัส แม้ไม่ตรัสไว้โดยลำดับแห่งการละองค์ฌานเหล่านั้น
แต่ก็ตรัสแม้ในฌานที่ 4 นี้ โดยลำดับแห่งอุทเทสแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ใน
อินทริยวิภังค์นั่นแล.
ถามว่า ก็องค์ฌานเหล่านั้น พระโยคาวจรย่อมละได้ในขณะอุปจาระ
ของฌานนั้น ๆ ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร จึงตรัสความดับในฌาน
ทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ก็ทุกขินทรีย์ เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ
ในที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัย สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิด
แต่วิเวกอยู่ ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือใน